วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555


ตำนานดอกไฮยาซินธ์

                " ดอกไฮยาซิน " เป็นดอกไม้ที่ฝรั่งชอบกันมาก  สาวไทยเราก็เห็นกันบ่อย ๆ ในแม่น้ำลำคลอง  เพราะมันก็คือ  " ดอกผักตบชวา "  นั่นเอง  ตำนานของดอกไม้ดอกนี้ค่อนข้างเศร้าเป็นบทเรียนถึงแรงริษยาที่ทำลายชีวิตบริสุทธิ์ให้พินาศไป  ว่ากันว่า  " ไฮยาซิน " เป็นชื่อของพระราชกุมารโอรสของกษัตริย์องค์หนึ่ง  พระโอรสองค์นี้ทรงหล่อมาก ๆ  จนแม้แต่เทพอย่าง " อพอลโล่ "  ก็ยังมาติดเนื้อต้องใจแวะเวียนมาหาอยู่บ่อย ๆ จนในที่สุดก็ลืมกลับสวรรค์ไปเลย  แต่คนหล่อ ๆ  ก็ต้องมีคนหมายปองเป็นธรรมดา  นอกจากอพอลโล่แล้วเทพเจ้าลมตะวันตก  " เชอฟีรัส " ก็แอบหลงรักไฮยาซินอยู่เหมือนกัน 


เซอฟีรัสพยายามรอจังหวะที่อพอลโล่จะกลับสวรรค์เสียที่  ตัวเองจะได้เข้ามาจีบเจ้าชายรูปงามบ้าง  แต่รอเท่าไรอพอลโล่ก็มัวแต่กินเด็กไม่ยอมไปไหน  ความรักของเซอฟิรัสก็เลยเปลี่ยนเป็นความหึงและความเกลียด  เมื่อฉันไม่ได้คนอื่นก็อย่าหวังจะได้  ว่างั้นเถอะ  วันหนึ่งอพอลโล่กับไฮยาซินเล่นขว้างจักรกัน  แต่เมื่อถึงตาที่อพอลโล่เป็นคนขว้างไปหาคนรัก  เซอฟีรัสได้ทีก็เลยแกล้งออกแรงเป่าลมไปที่จักร  




ทำให้มันพุ่งแรงกว่าที่อพอลโล่ตั้งใจ  พุ่งไปปักอกของเจ้าชายไฮยาชินจนขาดใจตายคาที่  อพอลโล่รีบวิ่งไปประคองคนรักแต่ก็ตายเสียแล้ว  เทพอพอลโล่ผู้ไม่อยากจะพรากจากคนรักจึงเสกให้เลือดของไฮยาชินที่ไหลท่วมกลายเป็นดอกไม้แสนงามสีแดง

ตำนานดอกฟอร์เก็ตมีน็อต

ในบรรดาดอกไม้ที่มีชื่อแสนจะโรแมนติคมากที่สุด  เห็นจะหนีไม่พ้นดอกหญ้าขนาดเล็กจิ๋วที่มีสีเหมือนกับท้องฟ้ากลางฤดูร้อนของ ประเทศอังกฤษ  เพราะดอกไม้ชนิดนี้ใช้บอกความในใจได้ว่า …. อย่าลืมฉัน
มีเรื่องเล่ากันมาว่า  เมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ดอกฟอร์เก็ตมีน็อตยังไม่ได้มีชื่อนี้  มีชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าคงเป็นชาวอังกฤษ  เพราะหนุ่มสาวคู่นี้ชอบเดินเที่ยวป่า
ระหว่างทางที่ลัดเลาะไปตามลำธารสายเชี่ยวนั้น  หญิงสาวเห็นดอกหญ้าสีฟ้าสดใสขึ้นอยู่ตามริมฝั่งแล้วเกิดอยากได้ขึ้นมา  ชายหนุ่มจึงอาสาไปเก็บให้ตามแบบฉบับของพระเอกนิยายที่ควรจะเป็น  แต่ปรากฏว่าชายหนุ่มนี้เกิดซุ่มซ่ามและเหยียบพลาดเข้า ก็เลยหล่นลงน้ำไปทั้งตัว

อย่างไรก็ตาม  ชายหนุ่มไม่ทิ้งลวดลายของความเป็นพระเอก  เขาได้โยนดอกไม้ที่เก็บได้ให้กับหญิงสาวพร้อมกับตะโกนว่า “Forget me not!”  ในขณะที่สายน้ำก็ได้พัดพาเอาร่างของเขาออกไปไกลทุกที   ฝ่ายหญิงสาวครั้นได้รับดอกไม้แล้วก็ไม่รอช้า  รีบกระโจนลงน้ำและร้องเรียกตามไปเช่นกันว่า “Forget me not!”
เป็นอันว่าดอกไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่าดอกฟอร์เก็ตมีน็อต  ก็ด้วยเหตุฉะนี้แล
ตามที่เล่ากันมานั้น เรื่องมักจะจบลงที่  หนุ่มสาวคู่นี้หลุดลอยไปกับสายน้ำและไม่มีใครพบเห็นอีกเลย  แต่เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นโศกนาฏกรรมไป  จึงจะขอเล่าต่อว่า  หลังจากที่สายน้ำไปพัดพาเอาคนทั้งสองขึ้นสู่ฝั่งแล้ว  ชายหนุ่มหญิงสาวก็ได้แต่งงานกัน  โดยได้เอาดอกไม้ที่พบในวันนั้นมาปลูกในสวนหน้าบ้าน
นับแต่นั้นเป็นต้นมาดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกขนานนามว่า “Forget me not!”

ถึงแม้จะเป็นดอกไม้ที่มีคนรู้จักกันมากที่สุดชนิด หนึ่ง  แต่ดอกฟอร์เก็ตมีน็อตก็เป็นพันธุ์ไม้ที่จำแนกได้ยากมากอีกชนิดหนึ่ง   เพราะในกลุ่มนี้มีดอกที่ลักษณะคล้ายคลึงกันถึง 7 ชนิด โดยต่างกันที่ใบและพุ่มต้น ส่วนดอกนั้นมีขนาดและรายละเอียดบางประการเกือบจะใกล้เคียงกัน

ดอกฟอร์เก็ตมีน็อตเป็นดอกไม้ที่สวยงามมีความหมายมากๆ และนีก็ชอบมากเลยทีเดียว ชอบทั้งความสวยงามของดอกและตำนานอันแสนโรแมนติก


ตำนานดอกทิวลิป

ทิวลิป (Tulip) เป็นชื่อสามัญของพันธุ์ไม้หัว ที่ออกดอกในฤดูใบไม้ผลิ ถ้าเราจะกล่าวกันถึง ต้นหรือดอก ทิวลิป
ก็จะเหมือนๆ กับการพูดถึง กล้วยไม้หรือ กุหลาบอย่างนั้นเอง เพราะชื่อของทิวลิป กล้วยไม้ และกุหลาบ เป็นคำสามัญนามที่ไม่ได้มีจัดแยกประเภทกันว่า เป็นต้นไม้หรือดอกไม้อย่างไหน พันธุ์ไหน หรือชนิดไหน
พันธุ์พืชแต่ละอย่าง หรือแต่ละนามนี้ ต่างก็มีสายพันธุ์ต่างๆ ที่แตกแขนงออกไปเป็นพันธุ์ (Species) เป็นชนิด (Variety) มีมากมายเหลือเกิน
ในปัจจุบันนี้ เชื่อกันว่า ได้มีนักผสมพันธุ์ทิวลิปต่างๆ ทำให้มีทิวลิปเกิดขึ้นในโลกมากกว่า 1,000 ชนิด แต่อย่างไรก็ตาม
ในอดีตนั้น นักพฤกษาวิทยาได้เคยมีรายงานบันทึกไว้ว่า ทิวลิปพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นของดั้งเดิมของโลกเก่าจริงๆ นั้น มีกระจายพันธุ์ขึ้นอยู่ในแถบถิ่นต่างๆ ของโลกราว 100 พันธุ์ หรือ 100 สปีชี่ ส่วนทิวลิปที่โด่งดังของโลก ซึ่งมีนักปลูกดอกไม,้ ต้นไม้ นิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางในโลก มากกว่าทิวลิปพันธุ์อื่นๆ คือ ทิวลิปพันธุ์ที่พระอาจารย์ลินเนียส ได้ตั้งชื่อไว้ให้ ในปีพ.ศ. 2280

ว่า ทิวลิปา กีสนีเรียนา (Tulipa gesneriana) ซึ่งเป็นทิวลิปที่เป็นที่นิยมมากที่สุด มาตั้งแต่ในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 มาจนถึงในปัจจุบัน ทิวลิปพันธุ์ที่ว่านี้ เป็นพืชพื้นเมือง มีทำเลถิ่นเกิดอยู่ในประเทศตุรกี และในละแวกเอเชียไมเนอร์บางท้องที่ แต่ต่อมาภายหลัง ก็เกิดมีการกระจายพันธุ์เข้าไปเป็นพืชพื้นเมืองอยู่ในยุโรปตอนใต้อีกหลายท้องที่
บุคคลแรกที่นำทิวลิปสู่ยุโรปคือ บุสเบคราชทูตอาณาจักรโรมันในราชสำนักตุรกี ในช่วงปี ค.ศ. 1572
ทำให้ผู้คนรุ่นหลังๆ เกิดไขว้เขว คิดว่าทิวลิปพันธุ์นี้เป็นต้นไม้พื้นเมืองของทวีปยุโรป
ทิวลิปพันธุ์กีสนีเรียนาเป็นพืชของโลกเก่า ที่นักพฤกษาวิทยาพบเป็นครั้งแรกจากประเทศตุรกี และชาวตุรกีก็เป็นหมู่ชน กลุ่มแรกที่รู้จักนำต้นทิวลิปพันธุ์นี้จากทุ่งนาป่าเขา นำเข้าไปปลูกดูเล่นในสวนดอกไม้ ตั้งแต่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 และทิวลิปถูกนำเข้าสู่ยุโรปตะวันตก จากกรุงคอนสแตนติโนเปิล และเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะที่ประเทศฮอลแลนด์

ในประเทศเปอร์เซียนั้น นักพฤกษาวิทยาได้เคยพบต้นทิวลิปป่าขึ้นอยู่มาก และในละแวกใกล้ๆ กับเมืองคาบูลในอัฟกานิสถาน ก็พบว่ามีต้นทิวลิปต่างๆ ขึ้นอยู่ในพื้นที่มากมายถึง 33 พันธุ์ ด้วยเหตุนี้ชาวเปอร์เซียนจึงมีเรื่องตำนานอันเก่าแก่ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของทิวลิปมากกว่าชนชาติใดๆ ในโลก
ทิวลิปดอกแรกที่ปรากฏอยู่ในตำนานนั้น ได้แก่ ดอกทิวลิปสีแดงสด ซึ่งชนชาวเปอร์เซียนโบราณเชื่อกันว่า เป็นสัญลักษณ์ของหยดเลือดและความรักอันจิรังกาล ที่พบอยู่เสมอในบทกวี บทเพลงพื้นบ้าน หรือในภาพเขียนลายเส้น หรือภาพสีน้ำมันของชาวเปอร์เซียนในยุคโบราณ ราชอาณาจักรตุรกียุคโบราณ (Ottoman Empire) ก็เคยใช้ดอกทิวลิปสีแดง เป็นสัญลักษณ์มาก่อนเช่นเดียวกัน ต่อมาความเชื่อนี้จึงค่อยแพร่ขยายเข้าไปสู่ในยุโรป แม้ในจักรวรรดิ์โรมัน ก็มีการใช้ดอกทิวลิปเป็นสัญลักษณ์ ขององค์จักรพรรดิหลายพระองค์อีกด้วย
ประวัติและตำนานของดอกทิวลิปนั้นจึงมีอยู่มากมาย เพราะก่อนที่ทิวลิปจะเข้ามาสู่ในโลกของพฤกษศาสตร์ ชนหลายชาติก็เคยรู้จัก และเคยปลูกทิวลิปด้วยกันมาก่อนแล้วทั้งนั้น ใน Encyclopedia จึงอ้างว่า มนุษย์เรียกชื่อของทิวลิปแตกกันอยู่นั้นมีมากกว่า 4,000 ชื่อ แต่สำหรับทิวลิปพันธุ์ที่เรียกกันว่า ทิวลิปา กีสนีเรียนานี้ ได้เริ่มเป็นที่รู้จักกันในยุโรปเมื่อ อาจารย์คอนแรดเกสเนอร์ (Conrad Gesner) นักพฤกษาวิทยาแห่งสวนพฤกษศาสตร์
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เขียนเรื่องและรูปของทิวลิปพันธุ์นี้พิมพ์เผยแพร่ขึ้นในปีพ.ศ.2104 
โดยที่พระอาจารย์เกสเนอร์

ใช้แผ่นทองแดงเป็นแม่พิมพ์ ครั้นต่อมาภายหลังพระอาจารย์ลินเนียส ก็ได้นำทิวลิปนี้ไปขึ้นทำเนียบไว้ในหนังสือ Systema Naturae ของท่านในพ.ศ. 2280 ทิวลิปต้นนี้ จึงได้นามว่าเป็นทิวลิปา กีสนีเรียนา มาตั้งแต่ในพุทธศกนั้น


ตำนานดอกซากุระ

"ซากุระ" มาจากคำเก่าแก่สองคำ คือ "ซา" หมายถึง วิญญาณแห่งพืชพันธุ์  และ  "กุระ" หมายถึง
ที่ประทับของเทพเจ้า ดังนั้นคำว่า "ซากุระ" จึงหมายถึง ที่สถิตของจิตวิญญาณแห่งพืชพันธุ์ทั้งปวง

ในแง่ของตำนาน ซากุระเกิดขึ้นมาเพราะเทวนารีองค์หนึ่ง คือ โคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะ เชื่อกันว่า พระนางเป็นผู้ริเริ่มปลูกซากุระขึ้นเป็นครั้งแรก จึงได้ชื่อตามพระนามของนาง

 โคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะ เป็นธิดาของโอโฮยามัทซูมิ เทพแห่งภูเขา วันหนึ่งพระนางได้พบเทพนินิงิที่ชายทะเล และตกหลุมรักซึ่งกันและกัน เทพนินิงิทูลขอเทพโอโฮยามัทซูมิเพื่อขอนางมาเป็นชายา ในตอนแรก เทพโอโฮยามัทซูมิได้เสนอธิดาอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเทพีแห่งก้อนหินมาเป็นคู่สยุมพรแทน แต่เทพนินิงิไม่ยอม  พระองค์ยังยืนกรานในรักมั่นที่มีต่อเทวี แห่งซากุระ ในที่สุดจึงได้วิวาห์ดังที่ปรารถนา หลังอภิเษกได้เพียงวันเดียวเทพีโคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะก็ทรงครรภ์ เทพโอโฮยามัทซูมิทรงคลางแคลงพระทัยว่าบุตรในท้องไปลูกของพระองค์จริงหรือไม่

การที่เทพีโคโนะฮานะ ซากุยะ ฮิเมะ ได้กำเนิดโอรสในกองเพลิงนี่เอง ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่า พระนางควบคุมไฟได้ เลยก็เลยมีการสร้างศาลบูชาพระนางขึ้นที่ตีนภูเขาไฟฟูจิในปี ค.ศ.806 ด้วยความหวังว่า พระนางจะช่วยไม่ให้ภูเขาไฟพิโรธ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน พระนางจึงกลายเป็นเทพีแห่งภูเขาไฟฟูจิด้วย จนถึงทุกวันนี้ ผู้ที่ไปเยือนภูเขาไฟฟูจิมักจะแวะไปศักการะศาลของพระนางและเชื่อกันอีกอย่างว่า เมล็ดพันธุ์ของต้นซากุระที่พระนางนำมาปลูกเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นนั้น ก็มาจากภูเขาไฟฟูจิซึ่งพระองค์ดูแลอยู่นี่เอง

นอกจากนั้น พระนางยังเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความปลอดภัยในบ้านและเปลี่ยนโชคร้ายให้กลายเป็นดี ให้ผู้คนได้ตามที่หัวใจปรารถนาด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555



ตำนาน ดอกทานตะวัน

ณ. โบสถ์ที่ถูกปิดตายมานานนับปี หากผู้ใดพบเห็นคงสะท้อนใจดวงจิต นึกสงสารหญิงงามที่ถูกทรมานกักขังด้วยเหตุใดมิมีผู้ใดล่วงรู้

หญิงงามผู้นี้มีนามว่า ไคลธี สาเหตุที่นางถูกกักขังอาจเป็นเพราะความงามที่ไม่มีหญิงใดมาเทียบเทียมหรือเพราะความใจดำของบิดาที่สั่งปิดตายยังสถานที่ที่นั่นโดยไร้ความเมตตาปราณี นางได้จำใจนิ่งอดทนอดกลั้นกับการที่ต้องถูกจองจำอย่างไร้อิสรภาพ

แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อนางสำรวจรอบๆ บริเวณซึ่งขณะนี้ไร้คนคุ้มกันหรือแม้แต่ข้ารับใช้ เพราะปัญญาอันเฉียบแหลม เธอได้หนีออกมาจากที่นั่นเพื่อไปยลแสงแรกแห่งรุ่งอรุณ ดวงอาทิตย์ที่มอบแสงนั้นมันรูปร่างหน้าตาอย่างไรนางมิเคยรู้มาก่อน การหลุดพ้นครั้งนี้นางต้องได้เชยชมสมดั่งใจเป็นแน่แท้

กลางทุ้งหญ้าเขียวขจี นางนั่งเฝ้ามองรอคอยที่จะยลดวงอาทิตย์ที่แสนอบอุ่น ซึ่งขณะนั้น เทพอะพอลโลควบม้าผ่านคุ้งขอบฟ้ากว้างพร้อมกับแสงร้อนแรงพาดผ่าน เพียงแรกพบนางถึงกับหลงใหลชายหนุ่มรูปงามนึกภาพตามในฝันตลอดการกลับมายังโบสถ์

และทุกๆ วันนางหนีออกมาเพื่อที่จะรอพบพานชายในดวงจิตถึงแม้ต้องเจอกับขวากหนามหรือการลงทัณฑ์เช่นไรนางมิเคยกลัว ขอเพียงได้เฝ้ามองชายหนุ่มที่จะควบม้าอย่างสง่างามข้ามผ่านท้องฟ้ากว้างมาพร้อมกับแสงอรุณที่มิอาจล่วงรู้ความรู้สึกที่นางมอบให้เพียงสักนิด นางได้แต่หวังว่าหากคงจะมีสักวันที่ชายหนุ่มเหลียวมามองเธอบ้าง

เจ้าหญิงไคลธีตัดสินใจหนีออกจากการพันธนาการตลอดชีวิตด้วยความรู้สึกที่มั่นคงต่อเทพอะพอลโลที่นางได้เฝ้ามองมาตลอด ถึงแม้จะไม่อยู่ในสายตาแต่เพราะความรักที่เปี่ยมล้นดวงจิตนางจึงตั้งมั่นอธิฐานต่อทวยเทพบนฟากฟ้า ด้วยความรักที่นางมอบให้ชายคนหนึ่งด้วยความบริสุทธิ์ใจตลอดมา หากเธอลับลาไปขอให้เธอได้เป็นทวยเทพแห่งผกา ที่ตั้งมั่นอยู่ตราบสิ้นแสงอัจจิมาตลอดกาล

หากขอให้เส้นผมนุ่มสีทองผ่องอำพันเป็นกลีบดอกเหลือง ดวงอาทิตย์นั้นไม่อาจผลักไส ขอเพียงสถิตอยู่ในดวงหทัยเทพอะพอลโลจอมใจข้าตลอดไปด้วยเทอญ

หลังจากเจ้าหญิงไคลีสิ้นลม เรียวขาของเธอได้หยั่งรากลึกลงไปในพื้นพสุธา แขนและลำตัวก็กลับกลายเป็นลำต้นใบไม้เขียว ใบหน้าอันอ่อนหวานกลับกลายเป็นสีน้ำผึ้ง เส้นผมไหมสีทองของเธอกลับกลายเป็นกลีบดอกไม้สีเหลืองสดใส คอยแหงนมองเทพแห่งดวงอาทิตย์ไปทุกแห่งหนโดยมิมีทางเหน็ดเหนื่อยและจะคอยหันมองตลอดจนกว่าดวงอาทิตย์ของเธอจะลาลับจากคุ้งขอบฟ้า ด้วยความรักและความภักดีตลอดกาล

ดอกทานตะวันจึงเปรียบเสมือนดอกแห่งความรักที่ซื่อสัตย์และมั่นคง หากมอบดอกทานตะวันให้คนรัก คนๆ นั้นก็คือคนที่เราจะรักและซื่อสัตย์ไปตลอดกาล เฉกเช่นนางไคลธีที่รักดวงอาทิตย์ของเธอตราบสิ้นนานเท่านาน


วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555


ตำนานดอกกุหลาบ
                                กุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกไว้ชื่นชมมาแต่โบราณ ประมาณกันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้ว เคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบใน รัฐโคโลราโด และ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พิสูจน์ว่ากุหลาบป่าเป็นพืชที่มีอายุถึง 40 ล้านปี แต่กุหลาบป่าสมัยโลกล้านปีนี้ มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกุหลาบสมัยนี้ เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์เป็นพันธุ์ต่างๆ มากมาย
               ความจริงแล้วกำเนิดของกุหลาบหรือกุหลาบป่านี้มีเฉพาะในแถบบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกเท่านั้น คือกำเนิดในภาคกลางของทวีปเอเชีย แล้วแพร่ขยายพันธุ์ไปตลอดซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแถบที่มีอากาศหนาวจัดอย่าง อาร์กติก อลาสก้า ไซบีเรีย หรือแถบอากาศร้อนอย่าง อินเดีย แอฟริกาเหนือ แต่ในบริเวณแถบใต้เส้นศูนย์สูตรอย่างทวีปออสเตรเลีย หรือเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรรวมทั้งแอฟริกาใต้ ไม่เคยมีปรากฏว่ามีกุหลาบป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเลย
                ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิจีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอก ส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน ชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมากถึงจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้ว ยังลงทุนสร้างเนอร์สเซอรี่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย สำหรับชาวโรมันแล้วเรียกได้ว่าดอกกุหลาบมีความสำคัญกับชีวิตประจำวัน เพราะชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ซึ่งเป็นทั้งของขวัญ เป็นดอกไม้สำหรับทำเป็นมาลัยต้อนรับแขก เป็นดอกไม้สำหรับงานเฉลิมฉลองต่างๆ ใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ ส่วนน้ำมันกุหลาบยังใช้ทำเป็นยาได้อีกด้วย
               กุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความโรแมนติก ซึ่งมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงาม และความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม
                บางตำนานกล่าวว่ากุหลาบเกิดจากการชุมนุมของบรรดาทวยเทพ เพื่อประทานชีวิตใหม่ให้กับนางกินรีนางหนึ่ง ซึ่งเทพธิดาแห่งบุปผาชาติ หรือ คลอริส บังเอิญไปพบนางนอนสิ้นชีพอยู่ ในตำนานนี้กล่าวว่า อโฟรไดท์ เป็นเทพผู้ประทานความงามให้ มีเทพอีกสามองค์ประทานความสดใส เสน่ห์ และความน่าอภิรมย์ และมี เซไฟรัส ซึ่งเป็นลมตะวันตกได้ช่วยพัดกลุ่มเมฆ เพื่อเปิดฟ้าให้กับแสงของเทพ อพอลโล หรือแสงอาทิตย์ส่องลงมาเพื่อประทานพรอมตะ จากนั้น ไดโอนีเซียส เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นก็ประทานน้ำอมฤต และกลิ่นหอม เมื่อสร้างบุปผาชาติดอกใหม่นี้ขึ้นมาได้แล้ว เทพทั้งหลายก็เรียกดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมและทรงเสน่ห์นี้ว่า Rosa จากนั้น เทพธิดาคลอริส ก็รวบรวมหยดน้ำค้างมาประดับเป็นมงกุฎ เพื่อมอบให้ดอกไม้นี้เป็นราชินีแห่งบุปผาชาติทั้งมวล จากนั้นก็ประทานดอกกุหลาบให้กับเทพ อีโรส ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก กุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แล้วเทพ อีโรส ก็ประทานกุหลาบนี้ให้แก่ ฮาร์โพเครติส ซึ่งเป็นเทพแห่งความเงียบ เพื่อที่จะเก็บซ่อนความอ่อนแอของทวยเทพทั้งหลาย ดอกกุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเงียบและความเร้นลับอีกอย่างหนึ่ง
               กุหลาบกลายเป็นของขวัญ ของกำนัลสำหรับการแสดงความรัก และมักจะมีผู้เปรียบเทียบความงามของผู้หญิงเป็นเสมือนดอกกุหลาบ และผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ได้รับสมญาว่าเป็นผู้หญิงงามเสมือนดอกกุหลาบคือ พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งพระนางยังได้เคยต้อนรับ มาร์ค แอนโทนี คนรักของพระนาง ในห้องซึ่งโรยด้วยดอกกุหลาบหนาถึง 18 นิ้ว หอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นกุหลาบ    
 ตำนานดอกกุหลาบในเมืองไทย
               กุหลาบมาจากคำว่า "คุล" ในภาษาเปอร์เชีย แปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" และเข้าใจว่าจากเปอร์เซียได้แพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดีมีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ"  ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า "Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก
                กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และที่แน่นอนอีกแห่งก็คือ ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
       
               สำหรับตำนานดอกกุหลาบของไทยเล่ากันว่า เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งนางได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มากแต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาบให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา
 กุหลาบขาว กับ กุหลาบแดง สีไหนเกิดก่อน ?
               มีหลายตำนานเล่าถึงการเกิดกุหลาบสีขาวและกุหลาบสีแดงไว้แตกต่างกัน ตำนานหนึ่งเล่าว่า กุหลาบขาว เกิดขึ้นก่อน กุหลาบแดง เดิมทีมีนกไนติงเกลตัวหนึ่งมาหลงรักเจ้าดอกกุหลาบขาวแสนสวย ขณะที่มันกำลังจะโอบกอดดอกกุหลาบด้วยความรักนั้นเอง หนามกุหลาบก็ทิ่มแทงที่หน้าอกของมัน หยดเลือดของเจ้านกไนติงเกลเลยทำให้ดอกกุหลาบสีขาวกลายเป็นสีแดง เลยมีดอกกุหลาบสีแดงนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่ากุหลาบสีแดงใน สวนอีเดน เกิดจาการจุมพิตของ อีฟ เจ้าดอกกุหลาบขาวที่หญิงสาวจุมพิต เลยเกิดอาการขวยเขินจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง
               นอกจากนี้ ความหมายของความรักในศาสนาคริสต์ ถือว่ากุหลาบสีขาวแทนความบริสุทธิ์ของ พระแม่มาเรีย และกุหลาบสีแดงเกิดจากหยาดพระโลหิตของ พระเยซูเจ้า เมื่อถูกสวมมงกุฎหนาม มันจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประกาศศาสนาที่พลีชีพเพื่อพระผู้เป็นเจ้า
 สีกุหลาบสื่อความหมาย
               ในวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก ดอกกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ และของกำนัลของวันนี้ ดังนั้นเวลาที่คิดจะให้ดอกกุหลาบแก่ใครสักคน เราก็น่าจะรู้ความหมายของสีอันเป็นสื่อความหมายของดอกกุหลาบไว้บ้างก็น่าจะดี ซึ่งก็จะมีความดังนี้
•           สีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปรารถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ
•           สีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์
•           สีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง
•           สีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ
•           สีขาวและแดง สื่อความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
•           กุหลาบตูม สื่อความหมายถึง ความงามและความเยาว์วัย